สมาชิก

Login เข้าสู่ระบบ
กรุณากรอกอีเมล์ หรือ เลขใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
กรุณากรอกรหัสผ่าน

สมัครสมาชิกใหม่

เพื่อสิทธิ์ในการเข้าใช้งานที่มากกว่า

ความเป็นมาของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

ประวัติราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

 

 สมาคมสูตินรีแพทย์ จัดตั้ง 20 เมษายน พ.ศ. 2511 จดทะเบียนจากกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2513 นายกสมาคม ฯ คนแรก คือ นพ.ชัชวาล โอสถานนท์

 

20 เมษายน พ.ศ. 2511

          นพ.จรัญพัฒน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เชิญสูตินรีแพทย์ตามที่ต่าง ๆ มาพบปะหารือ เพื่อจัดตั้งสมาคมสูตินรีแพทย์โดยอยู่ในความดูแลของแพทยสมาคม ที่ประชุมได้เลือก นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว

พฤศจิกายน พ.ศ. 2512

Ø ยื่นเรื่องต่อกรมตำรวจเพื่อขอตั้งสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

o   รองรับความเจริญทางวิชาการทางสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

o   เป็นตัวแทนกลางในการติดต่อประสานงานระหว่างสูตินรีแพทย์ภายในและภายนอกประเทศ

ได้รับอนุมัติและจดทะเบียนจากกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2513

Ø สมัครเข้าเป็นสมาชิก International Federation of Gynecology and Obstetricians (FIGO) ในการประชุมทางวิชาการที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513

          มีการประชุม ณ ห้องบรรยาย ตึกนวมินทราชินี สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เลือก นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ ให้เป็นนายกสมาคมท่านแรก และมีกรรมการบริหารอีก 11 ท่าน ซึ่งจะอยู่ในวาระครั้งละ 2 ปี

27 มิถุนายน พ.ศ. 2513

          มีการประชุมกรรมการบริหารของสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นทางการครั้งแรกที่ตึกคัคณางค์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

10 ตุลาคม พ.ศ. 2513

          ได้รับการร้องขอจาก Asia Oceania Federation of Obstetrics and Gynaecology (AOFOG) ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม Asian Congress of Obstetrics and Gynaecology ครั้งที่ 5 ในปี 2514 ณ กรุงเทพ ฯ แต่ทว่าทางสมาคมได้ขอปฏิเสธเนื่องจากยังไม่พร้อม เพราะยังมิได้เป็นสมาชิกของสหพันธ์สูตินรีแพทย์แห่งเอเซีย (AOFOG)

          ได้สมัครเป็นสมาชิกของสหพันธ์โดยเสียค่าบำรุงปีละครึ่งอเมริกันดอลล่าร์ต่อสมาชิก 1 คน

23 มกราคม พ.ศ. 2514

          มีการประชุมทางวิชาการครั้งแรกของสมาคม ฯ ที่โรงพยาบาลศิริราช ห้องประชุมตึก 72 ปี มีผู้เข้าร่วมประชุม 90 คน 

24 มิถุนายน พ.ศ. 2514

          มีประชุมทางวิชาการครั้งที่ 2 ณ ห้องบรรยาย ตึกอบรมวิชาการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับมีการประชุมใหญ่ประจำปี ของสมาคมครั้งแรกด้วย

          ได้กำหนดให้มีการประชุมทางวิชาการของสมาคม ฯ ปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ของทุก ๆ 2 ปี จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่

27 มีนาคม พ.ศ. 2518

          ได้ย้ายที่ตั้งสมาคมชั่วคราวจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย มาอยู่ที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของสมาคมจาก Obstetrics and Gynaecological Society of Thailand (OGST) มาเป็น Society of Obstetricians and Gynaecologist of Thailand (SOGT)

          เกิดคณะอนุกรรมการการศึกษาหลังปริญญาทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กับ คณะอนุกรรมการด้านการวางแผนครอบครัว

24 มกราคม พ.ศ. 2519

          มีการประชุมของสมาคมที่ต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก ที่ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลเชียงใหม่ และต่อมาได้จัดหมุนเวียนไปทุก ๆ ภาคของประเทศ กิจกรรมทางวิชาการที่จัดในกรุงเทพ ฯ นั้น จะเปลี่ยนกันไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลหญิง (ราชวิถี) โรงพยาบาลวชิระ

20 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520

          สมาคม ฯ ได้รับเกียรติให้จัดประชุม Asia-Oceania Congress of Obstetrics and Gynaecology ครั้งที่ 7 ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งไทย และต่างประเทศ ประมาณ 500 คน

ช่วงเวลา พ.ศ. 2528 - 2529

          คณะกรรมการบริหารของสมาคม ฯ ได้ริเริ่มที่จะเปลี่ยนสถานภาพของสมาคม ฯ ไปเป็นวิทยาลัย ฯ และราชวิทยาลัย ฯ ในโอกาสต่อไป

24 กันยายน พ.ศ. 2530

          ได้รับการเปลี่ยนสถานภาพเป็นวิทยาลัย ฯ

          พ.ศ. 2530 ได้รับเกียรติให้จัด Pre-Asian Congress of Obstetrics and Gynecology ที่โรงแรมออร์คิด เชอราตัน ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในนามของสมาคม ฯ

สรุป     มีกรรมการบริหารซึ่งดำเนินงานในรูปของสมาคม ตั้งแต่ 20 เมษายน พ.ศ. 2511 ถึง พ.ศ. 2530 รวม 9 ชุด

 

  

วิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จัดตั้ง 24 กันยายน พ.ศ. 2530 ประธานวิทยาลัย ฯ คนแรก คือ นายแพทย์วิทูร โอสถานนท์

1 มกราคม พ.ศ. 2531

          คณะกรรมการบริหารวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ชุดที่ 1 เริ่มปฏิบัติงานและอยู่ในวาระ ครั้งละ 2 ปี

พ.ศ. 2534

          พ.ศ. 2534 วิทยาลัยได้รับเกียรติให้จัดประชุม Asia & Oceania Federation of Obstetrics and Gynecology (AOFOG) ครั้งที่ 2

พ.ศ. 2533 – 2534

          จากการประชุมร่วมระหว่างวิทยาลัย ฯ ราชวิทยาลัย ฯ และแพทยสภา เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยมีประธาน คือ นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ในสมัยนั้น และมีผู้แทนจากราชวิทยาลัยสูติ ฯ ที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายแพทย์สมหมาย ถุงสุวรรณ (ประธานราชวิทยาลัย) นายแพทย์สมพร โพธินาม นายแพทย์กำแหง จาตุรจินดา นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล กรรมการราชวิทยาลัย ฯ และ นายแพทย์ประภาส เพียรเลิศ สมาชิกราชวิทยาลัย ฯ รวมผู้เข้าร่วมประชุม 21 คน ได้เลือกสถานที่สำหรับก่อสร้างอาคารรวมถาวรเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ นั่นคือ ที่ตั้งของอาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ในปัจจุบัน และได้ตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการสร้างอาคารขึ้นโดยมีนายแพทย์เอื้อชาติ กาญจพิทักษ์ (ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิก ฯ) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีนายแพทย์อร่าม โรจนสกุล เป็นผู้แทนของราชวิทยาลัยสูติ ฯ

 

สรุป     มีกรรมการบริหารซึ่งดำเนินงานในรูปของวิทยาลัย จนถึง พ.ศ. 2534 ทั้งหมดรวม 2 ชุด

 

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ประธานราชวิทยาลัย ฯ คนแรก คือ นายแพทย์สมหมาย ถุงสุวรรณ

24 มิถุนายน พ.ศ. 2536

          ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นราชวิทยาลัย ฯ

          ได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการและโครงสร้างของราชวิทยาลัย ฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพขึ้น แบ่งการบริหารงานเป็น

1.       บริหารและธุรการ

2.       วิเทศสัมพันธ์

3.       การประชุมและอบรมวิชาการ

4.       ฝึกอบรมและสอบ

5.       กำลังคน

6.       การวิเคราะห์อนามัยแม่และเด็ก

7.       การวิเคราะห์มะเร็งอวัยวะสืบพันธ์ุสตรี

8.       อนามัยการเจริญพันธุ์

9.       กองงานวารสาร

 

22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

          ได้มีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๔ ง วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ว่าด้วย ข้อบังคับใหม่ของแพทยสภาเกี่ยวกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ตามที่กรรมการบริหารราชวิทยาลัย ฯ ชุดที่ 7 พ.ศ. 2543 – 2544 ได้ดำเนินการขอปรับปรุงโครงสร้างใหม่

สรุป มีกรรมการบริหารราชวิทยาลัย ฯ ซึ่งดำเนินการก่อนมีการปรับปรุงโครงสร้างจนถึง พ.ศ. 2545 ทั้งหมด รวม 5 ชุด